กดเพื่อแก้ไข
คำแถลงนโยบาย
ต่อ
สภาเทศบาลตำบลท่าชี
ของ
นายบัญชา หนูภักดี
นายกเทศมนตรีตำบลท่าชี
อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี
วันที่ 12 เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2564
ณ ห้องประชุมสภาเทศบาลตำบลท่าชี
เรียน ประธานสภาเทศบาลตำบลท่าชี
ตามที่พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2562 มาตราที่ 48 ทศ ก่อนนายกเทศมนตรีเข้ารับหน้าที่ ให้ประธานสภาเทศบาลเรียกประชุมสภาเพื่อให้นายกเทศมนตรีแถลงนโยบายต่อสภาเทศบาลโดยไม่มีการลงมติ ทั้งนี้การแถลงนโยบายให้กระทำโดยเปิดเผยและต้องจัดทำนโยบายเป็นลายลักษณ์อักษรแจกให้สมาชิกที่เข้าร่วมประชุมเพื่อทราบ นั้น
กระผม นายบัญชา หนูภักดี นายกเทศมนตรีตำบลท่าชี อำเภอบ้านนาสาร จังหวัด สุราษฎร์ธานี ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีประกาศลงวันที่ 22 เมษายน 2564 เรื่อง ผลการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลท่าชี อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกาศให้กระผมนายบัญชา หนูภักดี เป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีตำบลท่าชี เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2562 มาตราที่ 48 ทศ ซึ่งกำหนดให้นายกเทศมนตรีแถลงนโยบายต่อสภาเทศบาลก่อนเข้ารับหน้าที่ กระผมจึงได้กำหนดนโยบายในการบริหารงานและพัฒนาตำบลท่าชี สำหรับช่วงระยะเวลา 4 ปี นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพื่อดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของเทศบาลภายใต้ระเบียบและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยยึดถือ ยุทธศาสตร์การพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตจังหวัด ยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด แผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นหลักในการกำหนดนโยบายการบริหารและพัฒนาที่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่
กระผมและคณะผู้บริหารจึงได้กำหนดนโยบายในการบริหารไว้ ดังนี้
1. นโยบายเร่งด่วน
เพื่อเป็นการตอบสนองนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ได้แก่ การเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ การส่งเสริมความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากสาธารณภัย โรคติดต่อ อาทิเช่น การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด และการป้องกันปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ
2. นโยบายการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน
เพื่อเป็นการจัดบริการขั้นพื้นฐาน ให้ประชาชนได้รับบริการอย่างทั่วถึง มีความสะดวกปลอดภัยและมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยมีแนวทางการพัฒนา ดังนี้
1. ก่อสร้าง ต่อเติม ปรับปรุง บำรุงรักษา เส้นทางคมนาคมในตำบลท่าชี ให้ได้มาตรฐาน เช่นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ถนนลาดยาง ถนนหินคลุก สะพานและระบบระบายน้ำ รวมทั้งบุกเบิกถนนใหม่ให้เป็นเส้นทางคมนาคมและขนส่งสินค้าการเกษตร
2. ต่อเติม ปรับปรุง บำรุงรักษาขยายเขตระบบไฟฟ้าสาธารณะ (ไฟฟ้าถนน) ให้ส่องสว่างเพื่อความปลอดภัยของประชาชนตำบลท่าชี
3. ขยายเขตระบบไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสำหรับประชาชนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ให้ทั่วถึงทั้งตำบล
5. จัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเป็นการบริหารจัดการระบบน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อรองรับการใช้น้ำสำหรับการเกษตรของเกษตรกรตำบลท่าชีรวมทั้งเป็นการจัดการในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของตำบลท่าชี
3. นโยบายการพัฒนาด้านคุณภาพชีวิตและสังคม
เพื่อเป็นการดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรง ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม เศรษฐกิจดี ผู้ด้อยโอกาสได้รับการสงเคราะห์ ทั้งการดูแลผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยโรคต่าง ๆ ให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างพอเพียง โดยมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในตำบลท่าชีทุกครัวเรือน โดยมีแนวทางการพัฒนา ดังนี้
1. ส่งเสริมกิจกรรมสาธารณสุขและสุขภาพอย่างต่อเนื่องเช่น การส่งเสริมการดำเนินงานของกองทุนหลักประกันสุขภาพ เทศบาลตำบลท่าชีในการดูสุขภาพประชาชนของหน่วยงานสาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล กลุ่ม อสม. และกลุ่มอาสาสมัครต่าง ๆ
2. ส่งเสริมและปรับปรุงระบบการป้องกัน ควบคุมและระงับการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ ให้อยู่ในสภาวการณ์ที่ควบคุมได้ เช่น โรคโควิด-19 โรคไข้เลือดออก โรคพิษสุนัขบ้า ด้วยการจัดหาวัสดุ อุปกรณ์และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญจากหน่วยงานของเทศบาลและหน่วยงานอื่นร่วมดำเนินการ
3. เพิ่มช่องทางในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารให้แก่ประชาชน เช่น ปรับปรุงระบบเสียงตามสายของหมู่บ้าน ปรับปรุงระบบอินเตอร์เน็ตให้ทั่วถึงทั้งตำบล ฯลฯ
4. ส่งเสริมและพัฒนาเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส ได้แก่ การสร้างความมั่นคงในชีวิตด้วยการจัดสวัสดิการสังคม การดูแลสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วย คนยากจนรวมถึงเด็ก สตรี และเยาวชน การส่งเสริมสนับสนุนให้ความสำคัญต่อสถาบันครอบครัว ให้ครอบครัวเข็มแข็ง สังคมเข็มแข็ง การพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนในตำบลท่าชี ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ พร้อมส่งเสริมเยาวชนที่มีความสามารถในด้านต่าง ๆ ให้ได้รับโอกาสในการพัฒนาต่อยอด ส่งเสริมกิจกรรมของกลุ่มและชุมรมผู้สูงอายุ เตรียมความพร้อมให้แก่สังคมผู้สูงอายุ โดยยึดหลักการให้ผู้สูงอายุเป็นทรัพยากรที่มีค่าของชุมชน ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของกลุ่มสตรี กลุ่มแม่บ้าน โดยให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่น
5. การส่งเสริมด้านกีฬา นันทนาการและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ โดยการปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนและเยาวชนหันมาสนใจในกีฬาและเล่นกีฬาอย่างต่อเนื่อง จัดการแข่งขันกีฬาเชื่อมความสามัคคีของทุกกลุ่มที่ชุมชน ส่งเสริมการแข่งขันกีฬาโดยการส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาในระดับต่าง ๆ จัดให้มีและปรับปรุงสนามกีฬา สวนสาธารณะและที่พักผ่อนหย่อนใจ สร้างลานกีฬา พร้อมอุปกรณ์กีฬาให้ครบทุกหมู่บ้าน
6. การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ได้แก่ การป้องกันบรรเทาสาธารณภัยและระงับอัคคีภัย จะดำเนินการจัดให้มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและระงับอัคคีภัย การฝึกอบรมอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนให้มีความพร้อมเป็นกำลังสนับสนุนในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เสริมสร้างระบบเฝ้าระวัง ติดตาม และเตือนภัยโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น ติดตั้งระบบกล้องวงจรปิดให้ครอบคลุมทั้งตำบล ส่งเสริมการดำเนินงานของศูนย์กู้ชีพ ศูนย์กู้ภัยของตำบลท่าชีให้มีความพร้อมในการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ เพื่อช่วยเหลือได้ทันท่วงทีและเป็นไปตามมาตรฐานของสาธารณสุข
7. ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษา โดยการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพในระดับก่อนวัยเรียนปฐมวัยและระดับอนุบาล ให้ทุกครอบครัวในตำบลท่าชีได้ส่งลูกหลานเข้าเรียนโดยลดภาระทุกด้านของผู้ปกครอง ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในพื้นที่ตำบลท่าชี พร้อมทั้งสนับสนุนงบประมาณ อาหารกลางวัน และอาหารเสริม(นม) ให้สำหรับเด็กนักเรียนทุกคน
8. ส่งเสริมการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ส่งเสริมการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยยึดหลัก ผู้เสพคือผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา ส่วนผู้ค้า คือ ผู้ที่ต้องได้รับโทษตามกระบวนการยุติธรรม โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
4. นโยบายการพัฒนาด้านการดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
เพื่อเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับชุมชนก่อให้เกิดเศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมอาชีพของประชาชน การกระจายรายได้ เพิ่มพูนรายได้ โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต แนวทางการพัฒนา ดังนี้
1. ส่งเสริมแนวทางตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การอบรมให้ความรู้การประกอบอาชีพ โดยการจัดอบรมให้ความรู้แก่กลุ่มอาชีพตามความประสงค์ของประชาชน เพื่อสร้างรายได้ ลดรายจ่ายครัวเรือน
2. ส่งเสริมสนับสนุนการรวมกลุ่มเพื่อการผลิตและจำหน่าย / จัดทำเกษตรแปลงใหญ่
3. ส่งเสริมและสนับสนุนช่องทางการจำหน่ายสินค้าออนไลน์
4. ส่งเสริมให้มีตลาดชุมชน และสร้างสินค้าอัตลักษณ์พื้นที่เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชน การหาแหล่งจำหน่ายสินค้าด้านการเกษตรเพื่อเป็นการเพิ่มพูนรายได้ของเกษตรกร
5. นโยบายการพัฒนาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เพื่อเป็นการป้องกัน รักษา แก้ไขปัญหา และพัฒนาสภาพแวดล้อมของชุมชนให้น่าอยู่ โดยการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ปรับปรุงภูมิทัศน์ เพื่อให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และกิจกรรม นันทนาการของประชาชน ตลอดจนให้สภาพแวดล้อมชุมชนน่าอยู่อาศัยมากขึ้น เกิดความเป็นระเบียบ เรียบร้อยสวยงาม เป็นที่ประทับใจแก่ประชาชนและผู้มาเยือน ให้ชุมชนมีความปลอดภัยจากมลพิษ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน พร้อมส่งเสริมประชาชนให้มีจิตสำนึกในเรื่องการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติและดูแลสิ่งแวดล้อม โดยมีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้
1. ส่งเสริมและสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วม ให้ประชาชนทั่วไปให้ตระหนักถึงเรื่องมลพิษสิ่งแวดล้อม พลังงานทางเลือก ลดภาวะโลกร้อน ลดการใช้ถุงพลาสติก และการจัดให้มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น
2. บริหารจัดการและพัฒนาระบบการจัดการขยะ ตั้งแต่การจัดเก็บขยะต้นทาง การคัดแยกขยะ การกำจัดขยะให้มีประสิทธิภาพ
3. บริหารจัดการและพัฒนาระบบการระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทั้งพื้นที่เทศบาล ตลอดจนปรับปรุง ซ่อมแซม ขุดลอก คู คลอง เพื่อให้น้ำไหลผ่านสะดวกขึ้น
4. รณรงค์ให้ทุกภาคส่วน ประชาชนทุกเพศ ทุกวัย ได้ตระหนักถึงคุณค่าและร่วมกันรักษา ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมให้สวยงามอยู่เสมอ รวมทั้งการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมถนนให้มีความร่มรื่นและสวยงาน
5. ดูแลความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน เน้นการป้องกันไม่ให้ ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม ถูกรุกล้ำ และทำลาย
6. ควบคุมมลพิษทางอากาศ ขยะ น้ำเสีย กลิ่น และเสียงที่เกิดจากการผลิตและบริโภค โดยเฉพาะ เร่งรัดการสร้างระบบบำบัดน้ำเสียที่เกิดขึ้น การจัดทำระบบกำจัดขยะ โดยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มศักยภาพของชุมชน ให้มีขีดความสามารถในการกำจัดขยะและบำบัดน้ำเสีย
7. ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในการควบคุมและกำจัดมลภาวะที่มีผลต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชน
6. นโยบายการพัฒนาด้านศาสนา วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น
ประกอบด้วย แนวทางการพัฒนา ดังนี้
1. ส่งเสริมกิจกรรมทางศาสนา โดยปลูกฝังให้ประชาชนและเยาวชนใช้ศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจส่งเสริมกิจกรรมทางศาสนาร่วมกับ วัดท่าเจริญและวัดชัยศรีตนธรรมาราม(วัดทุ่งตำเสา)
2. สนับสนุนส่งเสริม และอนุรักษ์ศิลปะะวัฒนธรรม ประเพณีที่มีคุณค่าของท้องถิ่น โดยการจัดกิจกรรม การส่งเสริมวัฒนธรรม การละเล่น ประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่ ให้แพร่หลายกลายเป็นที่ยอมรับแก่ บุคคลทั่วไปอย่างทั่วถึง
3. ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับภูมิปัญญาไทยของท้องถิ่น ให้แพร่หลายในเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป ในรูปแบบการจัดกิจกรรม นิทรรศการ ภูมิปัญญาท้องถิ่น จากผู้ทรงคุณวุฒิภูมิ ปัญญาไทย หรือจากบุคคลซึ่งเป็นที่ยอมรับ
7. นโยบายการพัฒนาด้านการเมืองและการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี
เน้นการปลูกฝังความรู้ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในทางการเมืองและการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รวมถึงการบริหารงานที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้ ให้การบริการแก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและยึด ประชาชนเป็นศูนย์กลาง การจัดบริการประชาชนด้วยความถูกต้องรวดเร็ว มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้วัดผล ประเมินผลได้ประชาชนมีส่วนร่วมและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยมีแนวทางดำเนินงาน ดังนี้
1. ส่งเสริมและปลูกฝังให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและมีส่วนร่วมในทางการเมือง และการ บริหารในฐานะพลเมืองที่ร่วมคิดร่วมพัฒนาร่วมกันแก้ไขปัญหาตามระบอบประชาธิปไตย ส่งเสริมบทบาทของ ชุมชนให้เป็นแกนหลักและเครือข่ายในการพัฒนา แก้ไขปัญหาในพื้นที่
2. เพื่อเชื่อมประสานระหว่างเทศบาล สมาชิกสภาเทศบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่และประชาชนในตำบลท่าชี ตลอดจนกระบวนการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนของสังคม
3. จัดระบบการบริหารงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ที่เรียกว่า หลักธรรมาภิบาล มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร สารสนเทศให้ประชาชนได้รับทราบ และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและความเคลื่อนไหวของเทศบาลได้อย่างเท่าเทียมตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
4. ปรับปรุงโครงสร้างและอัตรากำลัง ให้สอดคล้องกับบทบาท ภารกิจ และผลสำเร็จของเทศบาลตาม กฎหมาย โดยกำหนดแผนอัตรากำลังที่ชัดเจนเป็นกรอบในการดำเนินการ รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุน การพัฒนาประสิทธิภาพบุคลากรเทศบาล โดยการเพิ่มพูนความรู้ใหม่ และสนับสนุนการศึกษาอบรมเพิ่มเติม เพื่อให้บุคลากรเทศบาลมีความรู้ความสามารถ มีคุณธรรม จริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อตนเองและงานในหน้าที่เพิ่มประสิทธิภาพประสิทธิผลในการปฏิบัติงานเป็นที่พึ่งของประชาชน มีจิตสำนึกในการบริการประชาชน ตลอดจนส่งเสริมขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของบุคลากรเทศบาลให้มากขึ้น
5. ส่งเสริมและพัฒนาการจัดเก็บรายได้ของเทศบาล ให้มีประสิทธิภาพ แสวงหาแหล่งรายได้ใหม่ ตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ ที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้เทศบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น มีฐานะการเงิน การคลังที่มั่นคง สามารถพึ่งพาตนเองได้และให้มีรายได้อย่างเพียงพอ รวมทั้งจัดหางบประมาณเพิ่มเติมจากหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มศักยภาพ ขีดความสามารถในการพัฒนา แก้ไข ปัญหา ตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ
6. ปรับปรุงระบบประชาสัมพันธ์ของเทศบาลให้มีประสิทธิภาพ และมีความหลากหลาย สามารถให้ ข่าวสาร ความรู้สาระและการบันเทิงแก่ประชาชนได้ ทั้งพัฒนาระบบการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบใหม่ ๆ ที่น่าสนใจยิ่งขึ้น
ท่านประธานสภาเทศบาลตำบลท่าชี ที่เคารพ กระผมและคณะผู้บริหารขอยืนยันกับสภาเทศบาลตำบลท่าชีว่า การกำหนดนโยบายดังกล่าววางอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและการปฏิบัติได้จริง ตามภารกิจของเทศบาล ภายใต้ความร่วมมือของสมาชิกสภาเทศบาลตำบลท่าชีทุกท่าน เพื่อพัฒนาตำบลท่าชี
กระผมและคณะผู้บริหารทุกท่านจะร่วมกันปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ ด้วยความทุ่มเทและอุตสาหะ ไม่แบ่งแยก มีความเสมอภาคและเท่าเทียมกันของพี่น้องประชาชนทุกคน เพื่อพัฒนาตำบลท่าชีให้เจริญก้าวหน้าบรรลุตามนโยบาย เกิดประโยชน์สุขอย่างแท้จริงต่อประชาชนสืบไป